9.25.2010

ชีวิตเล็กๆ ของลิงและยักษ์ในรามเกียรติ์




จิตรกรรมฝาผนังในห้องต่างๆ ที่ระเบียงอุโบสถวัดพระแก้วนับว่าเป็นงานที่อลังการมาก  แต่ถ้าคนที่ไม่ค่อยจะ “อิน” สักเท่าไหร่กับรามเกียรติ์  การเดินดูเป็นชั่วโมงท่าจะไม่สนุก  ตอนที่กำลังจะเบื่อก็เหลือบไปเห็นภาพแปลกๆ … ขำๆ ของเหล่าวานรและยักษ์เล็กๆ ที่ไม่ค่อย “มีส่วนร่วม” เท่าไหร่กับการรบ  ขณะที่เหล่าแม่ทัพของพระราม และญาติวงศ์ยักษ์อันสูงส่งกำลังเตรียมการรบกันอย่างขมักเขม้น  เราเห็น "คนเล็กๆ" เขาทำอะไรบ้าง

พลทหารลิงกำลังพี้กัญชา
ถ้ามองให้ดีๆ เราจะเห็น
พลทหารยักษ์แอบไปจีบสาวอยู่หลังโขดหิน
วานรหญิงโดนพลทหารแซวเอา เลยหันไปด่าละมั้ง
  ภาพเหล่านี้คงต้องอาศัยจินตนาการของศิลปินผู้วาด (ซึ่งก็ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย) และอารมณ์ขันของคนดู  ถ้าจูนกันติด ก็คงเห็นขำไปด้วย ช่วยแก้เบื่อได้ ...


 

Assume = (make an) Ass (of) U (and) Me


เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น  ซาร่าต้องส่งชิ้นงานสมุดภาพรามเกียรติ์  เธอไปเลือกตอน “หนุมานฆ่าภานุราช” เพราะจำได้ว่า  แม่เคยอ่านให้ฟังตอนเด็กๆ ว่ามีใครสักคน “คว่ำแผ่นดิน”   ในบทกลอนรามเกียรติ์ตอนนี้มีชื่อตัวละครที่เราไม่ค่อยคุ้น 2 ตัวคือ ภานุราช และ “ประคนธรรพ”
ทั้งแม่ทั้งลูกหาข้อมูลเรื่อง 2 ตัวละครนี้จากหลายแหล่ง  แต่ไม่สำเร็จ  ในที่สุดก็เจอภาพที่อยู่ที่ระเบียงฝาผนังวัดพระแก้ว  เห็นตัว คุณภานุราช ที่เป็นยักษ์ตัวดำๆ ใหญ่ๆ ยืนอยู่ใต้ดินแบกแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ยังหาตัวคุณประคนธรรพไม่เจอ เห็นแต่ผู้ชายตัวสีชมพูเดินอยู่กับหนุมาน
แต่เพราะเราสองคนเชื่อมั่นว่า ประคนธรรพต้องเป็นลิง ก็เลยไม่สนใจ  มัวแต่สงสัยว่าลิงตัวไหนที่ใช่ ขนาดเห็นที่แผ่นซุ้มประตูมีมนุษย์ถือพระขรรค์ เขียนว่า “ปโคนทัพ” ก็ยังสงสัยว่าใช่ตัวเดียวกันหรือเปล่า ผ่านไปครึ่งชั่วโมง ซาร่าบอกว่า จะย้อนไปดูภาพห้องแรกๆ  ก็โชคดีที่ไปดูภาพตอนที่คณะลิงไปเจอประคนธรรพแล้วพามาเฝ้าพระราม  ในโคลงบรรยายว่า เป็นพวก “นักสิทธิ์” เราก็เลยได้คำตอบว่า เป็นพวกคนธรรพ์นั่นเอง
สอนซาร่าไปว่า อันตรายของการ assume คืออย่างนี้  ถ้าหากเรามี preconception ซะแล้ว  เราก็มักจะพลาดการที่ได้รู้จักสิ่งนั้นจริงๆ   อาจารย์ของเราย้ำแล้วย้ำอีกว่าการ assume นี้อันตรายอย่างที่สุดสำหรับนักวิจัย จำไว้เลยว่า assume means making an ass out of u and me ถ้าเหมาเอาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เมื่อไหร่ ก็เท่ากับเอาความโหลยโท่ยของเธอและฉันมารวมกัน  เราเป็นนักวิจัยต้องไม่ตกหลุมพรางนี้  อาจารย์สั่งสอนไม่รู้กี่ครั้ง  แต่ลูกศิษย์ดันพลาดตกหลุมไปโครมเบ้อเริ่ม

9.11.2010

tailor-made ด้วยอิทธิบาท 4

ฟังเทศน์ของท่านปอ.ปยุตโตเรื่องอิทธิบาท4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)  ทำให้เข้าใจทันทีว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าช่างลึกซื้ิง เพราะท่านเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์  ด้วยความเข้าใจนี้ ในฐานะที่มาเป็น "ครู" ก็ได้เปิดโลกทัศน์ที่นำไปสู่ความเป็นอิสระ ไร้กรอบ แต่เข้าถึงแก่นอย่างแท้จริง

ฟังเทศน์ของท่านไปก็นึกถึงนักเรียน (และทีมครู) ไปด้วยว่า จะนำไปใช้งานจริงอย่างไร 

คนจำนวนไม่น้อยติดกรอบคิดว่า จะทำอะไรได้ดี อย่างนักเรียนจะเรียนหนังสือได้ดีก็ต้องเริ่มที่ "ฉันทะ"  คือต้องสร้างให้เกิดความพึงพอใจ มีความรักที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นเสียก่อน จึงจะเรียนรู้ได้ดี  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  มนุษย์มี "จริต" ที่แตกต่างกัน

เด็กบางคนอาจจะต้องเริ่มด้วย "วิริยะ" ซึ่งแปลว่าความแกล้วกล้า  พวกนี้มีความเป็นนักรบ สนุกกับการเรียนรู้สิ่งที่ท้าทาย  ชอบเอาชนะอุปสรรค ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะรักหรือไม่รักในตอนแรก  แต่เมื่อลงมือไปแล้ว อาจจะรู้สึกชอบก็ได้

เด็กอีกประเภทหนึ่งเป็นกลุ่ม "จิตตะ"  ท่านมักจะเปรียบเด็กกลุ่มนี้ว่า เหมือนคนกู้ระเบิด  คือ จำเป็นต้องทำแล้ว ไม่ทำตายแน่ๆ  นึกถึงหน้าเด็กๆ ที่ครูบอกว่า พรุ่งนี้ deadline ไม่ส่งได้ 0 ... คืนนี้ ต่อให้ไม่ชอบงานนี้แค่ไหน  ก็ต้องลุยทำให้เสร็จ

เด็กกลุ่มสุดท้าย คือ "วิมังสา"  เป็นนักทดลอง  ไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ ไม่จำเป็นต้องทำ แต่อยากลองหาประสบการณ์ อยากลองความคิดใหม่ๆ  ก็ลองทำดูก่อน  ลองดูแล้วรู้สึกว่า เพลินดีมีความสุขก็อาจจะชอบและทำต่อเนื่อง

แต่ท่านย้ำว่า  ไม่ว่าจะเริ่มด้วยอะไร ดีที่สุดก็จะต้องมีครบองค์ 4 จึงจะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข เข้าถึงแก่นสารอย่างแท้จริง ชไปทำประโยชน์ได้  มีความสมดุลย์กับตัวเองและกับผู้อื่น  เช่นว่า ถ้าเราเป็นพวกที่ชอบงานท้าทาย (เรียกว่า งานง่ายๆ ไม่ทำ)  เมื่อเริ่มไปแล้ว เกิดความรู้สึกดีๆ กับเรื่องที่เรียนอยู่ ก็จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง  มีการทดลองของใหม่ มีการตัดสินใจเกี่ยวกับงานที่ทำ ฯลฯ

ถ้าบอกว่า พระพุทธเจ้านี่ท่านมหัศจรรย์จริงๆ  ท่านเข้าใจหลัก tailor-made อย่างแท้จริง  เพราะท่านเข้าใจมนุษย์อย่างถึงกึ๋นทีเดียว  เห็นด้วยกับท่านมากๆ ว่า เราไม่จำเป็นต้องรักงานนั้นก่อนที่จะได้รู้จักมันอย่างแท้จริง  ลองทำดูก่อน ลองรู้จักมันก่อน  เดี๋ยวก็อาจจะรักมันก็ได้

9.09.2010

แด่ farmville fan

เมื่อหลายเดือนก่อน  เขียนคอลัมน์ให้หนังสือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยอนุบาล เรื่อง social network  ได้เขียนเชียร์ farmville ไว้มากมาย ...



"กิจกรรมหนึ่งบน facebook ที่ดึงดูดให้คนสมัครเข้ามาใช้ และกลับมาใช้เป็นประจำคือ เกมประเภทที่เรียกว่า “social game” หรือเกมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวก  คือแทนที่จะเล่นแต่เกมต่อสู้กัน เขาเปลี่ยนเป็นการให้ของขวัญ การเยี่ยมเยียนกัน บางเกมมีแนวคิดที่น่าสนใจ เช่นเน้นให้ ฝึกการวางแผนเวลา การแสดงน้ำใจ ดูแลเพื่อนบ้าน มีอะไรก็แบ่งปัน รู้จักขอความช่วยเหลือ ฯลฯ  พฤติกรรมเหล่านี้ คนออกแบบเกมบอกว่าจะนำไปสู่สังคมอุดมการณ์  แต่เขาอาจจะลืมนึกไปว่า พฤติกรรมการเล่นเกมนี้อาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่หรือหัวหน้าไม่พอใจเอามากๆ เพราะก็ทำให้ลูก (และลูกน้อง) ไม่เป็นอันทำอะไร เอาแต่เก็บผัก เลี้ยงไก่ สะสมของขวัญ ฯลฯ  ทราบมาว่า หลายองค์กรถึงกับสกัดพนักงานไม่ให้เข้าเวบไซท์เหล่านี้กันทีเดียวค่ะ


ถ้าเราถอดแนวคิดจากเกมเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า การสร้างเครือข่ายทางสังคมนี้ไม่ได้ยากเย็น เป็นเรื่องใหญ่โตเลย แต่น่าประหลาดใจมากที่เด็กจำนวนไม่น้อยขาดทักษะการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน ลองใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือฝึกลูกเรากันนะคะ

ก้าวแรกของการสร้างเครือข่ายสังคม: Hello … how are you?  ทักทายกันก่อน …

ที่จริง  ยังมีการทักทายกันอีกหลายแบบ เช่น
•    How do you do? (มักใช้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน) 
•    How have you been? (อันนี้เคยรู้จักกันแล้ว แต่ไม่เจอหน้ากันมานาน) 

ก้าวที่สอง แบ่งปันน้ำใจ … May I help you?
•    May I help you? มีอะไรให้หนูช่วยไหมคะ (บางคนก็บอกว่า How may I help you?)
•    Would you like a glass of water ? – นึกถึงภาพคุณแม่กลับมาบ้านเหนื่อยๆ แล้วลูกบอกว่า คุณแม่ ดื่มน้ำเย็นๆ สักแก้วนะคะ … หายเหนื่อยจริงๆ เพราะลูกเราน่ารัก มีน้ำใจ
•    Let me carry this tray to the kitchen … ให้หนูช่วยยกถาดไปเก็บในครัวนะคะ  หรือ Here is a napkin. กระดาษเช็ดปากค่ะ … นี่เป็นขั้นที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ เสนอบริการให้โดยที่เขาไม่ต้องขอ … ซึ่งลูกจะต้องฝึกเรื่องการสังเกตคนและสถานการณ์รอบตัว เขากำลังต้องการอะไรอยู่นะ 
ทักษะหรือจิตใจบริการแบบนี้จะไม่เกิดแน่นอนหากเราไม่ฝึกลูก

ก้าวที่ 3 … บอกความต้องการของตัวเอง (อย่างถูกกาลเทศะ) … Could you please …?
•    Could you please hand me a pencil? ลูกช่วยส่งดินสอมาให้แม่หน่อยนะคะ
•    Could you pick up the phone? ลูกช่วยรับโทรศัพท์ด้วยค่ะ (แต่อย่าลืมสอนลูกตอบโทรศัพท์ก่อนนะคะ ไม่งั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะเสียเพื่อนได้ทีเดียวค่ะ)
•    Could you turn down the volume? หรี่เสียงหน่อยนะคะ (แม่หูจะดับแล้วจากเสียงเพลงของลูก)
•    บางครั้ง เขาก็จะบอกว่า “Could you do me a favor?” ถามก่อนเลยค่ะว่า จะพอช่วยกันหน่อยได้ไหม … แล้วค่อยบอกความต้องการของเรา

•    แต่ … ลูกจะต้องรู้ก่อนว่า อะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยดูแลให้เหมาะกับวัยของเขาด้วย เช่น ถ้าลูกอายุ 12 อยู่ในภาวะปกติดี แต่ยังให้คุณพ่อไปนอนเป็นเพื่อนเพราะกลัวผี .. หรือให้แม่ป้อนข้าวให้ อันนี้คงจะไม่เหมาะกับวัยแล้วค่ะ

การฝึกลูกให้พูดประโยคอย่างนี้จะช่วยให้เขาเข้าใจได้ว่า เขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลกนี้ ...

ที่เหลือ ต้องไปหาอ่านเอาจาก Kids&School   แต่แค่นี้ก็พอ ... ขอมอบให้เพื่อนชาวเกษตรกร on-lineของเราค่ะ

9.08.2010

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ... ด้วยการฝึก

เมื่อวันก่อน  ได้นั่งคุยกับนักเรียนม.ต้นเกี่ยวกับงานภาคสนามที่เพิ่งกลับมา  หนุ่มคนหนึ่งก็ถามว่า  เราต่างจากสัตว์ตรงไหนครับแม่ต้น ... แม่ต้นตอบด้วยคำถามกลับไปว่า  ลองดูสิว่า เรามีอะไรที่ไม่เหมือนสัตว์บ้าง เลือกสัตว์ชนิดไหนกันดี  คุยกันไปสบายๆ  แม่ต้นก็ได้คำตอบจากเด็กๆ มาเยอะแยะ  ตามแนวชีวะ (เช่น มนุษย์มีกระเพาะเดียว สัตว์บางชนิดมี 4 กระเพาะแนะ) ฟิสิกส์ (เรามีนิ้วหัวแม่โป้ง--impossible thumb-- แต่สัตว์ส่วนมากไม่มีนะ)  และเคมี (ความสามารถในการจัดการแบคทีเรีย และสิ่งสกปรกของมนุษย์ไม่ดีเท่าหมาแมว)  เรียกว่าครบเครื่องวิทยาศาสตร์โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อย  เด็กๆ เขารวบรวมความรู้จากประสบการณ์มาช่วยตอบคำถามให้เอง ... อิอิ


หนุ่มน้อยคนหนึ่งก็พูดต่อว่า แต่ผมว่า พวกเราก็ยังเป็นสัตว์  ยังไงอ้ะ ... เพื่อนคนหนึ่งถาม  เขาตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า ก็เป็นสัตว์ประเสริฐไง (ไม่อยากบอกว่า  เชยจริงๆ มุขนี้แม่ต้นใช้มาตั้งแต่ 40 ปีก่อนแล้ว) 

แม่ต้นรีบคว้าโอกาส  ไม่เสียแรงเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อป.อ.ปยุตโต  คุยกับเด็กๆ เลยว่า  ที่ว่าเราเป็นสัตว์ประเสริฐน่ะ  ไม่ใช่เพียงเพราะเราเกิดมาเป็นคนนะ  แต่เราจะเป็นสัตว์ประเสิรฐได้ด้วยการ "ฝึก" นี่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ 

ทีนี้ ... การฝึกที่ดีจะฝึกยังไง 

เด็กๆ ก็ตอบกันเอง (หลังจากที่ต้องข่วยไกด์เขานิดนึง) แม่ต้นช่วยสรุปได้ว่า  ต้องฝึกในเรื่องที่ยากกว่าความสามารถเราตอนนี้  ไม่อย่างนั้นจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร  เวลาเราเจองานยาก เราจะไม่ท้อถอยถ้าเราเ้ข้าใจว่า  หน้าที่ของเราคือการฝึกตน  ดังนั้น ทุกงานถือว่าเป็นเรื่องที่จะนำเราำัพัฒนาไปสู่ความเป็นสัตว์ประเสริฐ ...


ฟังดูเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ  พอเด็กๆ เริ่มเคลิบเคลิ้ม  แม่ต้นก็ได้จังหวะทวงงานซะเลย ... ใครยังไม่ได้ทำโปสเตอร์ภาคสนาม ใครยังไม่ได้เตรียมงานชื่นใจฯ  ใครมีงานค้างกับครูคนไหนบ้าง ... รีบจัดการซะ  สัตว์ประเสริฐทุกผู้ทุกนาม  เด็กๆ กรี๊ดสลบ บอกว่า แม่ต้นอ้ะ ... กำลังรู้สึกดีๆ อยู่เชียว  5555 

9.07.2010

Sarah's aquarium tank

ตู้ขนาด 36" ลงทุนไปเกินหมื่น คุ้มสุดๆ ตั้งแต่วันแรกที่ได้มาเลย แหล่งกำเนิดความสุขประจำวัน

เมื่อวันเกิดปีที่แล้ว  ซาร่ากับเจ้าต่อรวมหัวกันล๊อคตัวแม่ไปจ่ายเงินค่าตู้ปลาให้ ตอนแรกก็คิดว่า หาเรื่องจริงๆ  ชีวิตยังวุ่นไม่พอ 555  ต้องหาภาระเพิ่มให้ตัวเองอีก


เรียกว่า  เชื้อไม่ทิ้งแถว เพราะคุณตาของซาร่าก็เป็นนักเลี้ยงปลาตู้มาตั้งแต่หนุ่มๆ  มีตำราปลาตู้ทั้งอังกฤษ และไทยที่เรายังใช้อ้างอิงมาได้ถึงวันนี้  แถมคุณตายังมีฝีมือในการเพาะไม้น้ำ  ดังนั้น ตู้ปลาของพวกเราจึงดูมีสกุล เนื่องจากไม่ใช้ต้นไม้พลาสติก


ตอนนี้ คุณตามี 2 ตู้ เน้นพวกตะเพียน (Barb)  คุณยายมี 1 ตู้ เป็นตู้สำหรับรับสงเคราะห์ปลาที่ไม่เข้าพวกจากตู้อื่นๆ ซาร่า(กับแม่) มี 2 ตู้  น้าต่อ น้าปุ๊ก กับเจ้าเชลโล มี 3 ตู้กับ 1 อ่าง ...


ถือว่าเราเป็นมือใหม่ รู้ทฤษฎีมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอปฏิบัติมันคนละเรื่องจริงๆ  หลายเดือนที่ผ่านมานี้จึงถือเป็นการสะสมประสบการณ์ตรงจากการเสียเลือดเนื้อ ชีวิต (ปลา) และ money ไปพอสมควรทีเดียว  แต่เดี๋ยวนี้ เริ่มพัฒนาฝีมือไปอีก step หนึ่งแล้ว  ตั้งแต่ล้างหม้อกรองน้ำ จัดตู้ปลา ล่าสุดนี่ลองเอาขอนไม้มาพันกับมอสน้ำ อนูเบียส และเฟิร์น ... หลังจากมีประสบการณ์เสียเงินค่าต้นไม้น้ำ แล้วทำมันเน่ามาหลายรุ่นแล้ว  ตู้ที่เห็นล่าสุดนี้ เพิ่งจัดใหม่ได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว  เอาเทปบิด เทปเล็ก เฟิร์น และสาหร่ายของคุณพ่อมาลงเพื่อให้ปลาเล็กๆ มีที่พัก  ดูปลาก็ดีใจกันมาก เข้าไปเล่นในดงเทปสนุกสนาน  เราก็ได้บทเรียนมากมายเก็บไว้ใน blog นี้หละ




9.06.2010

สุนทรียภาพ ... จากมุมมองเชิงบวก



"สุนทรียภาพ" เป็นเรื่องที่ subjective แท้ๆ  ถ้าสุนทรียภาพหมายถึงความงาม  คนแต่ละคนก็มีสายตาที่จะมองว่าอะไรงาม ไม่งาม แตกต่างกันไปอีก


ประเด็นหนึ่งที่ได้นำเสนอไป คือ สุนทรียภาพ ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งของ ภาพวาด หรือบรรยากาศเพียงฝ่ายเดียว  ตัวเราเองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดสุนทรียภาพขึ้นได้ด้วย  สมัยที่อยู่อเมริกา เืพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นขอร้องให้แม่ต้นขับรถพาคุณตาของเพื่อนไปร่วมพิธีชงน้ำชาของสมาคมชาวญี่ปุ่นซึ่งอยู่อีกเมืองหนึ่ง  คุณตารับเชิญมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่อเมริกาตั้งแต่ยังหนุ่มจนบัดนี้เกษียณอายุแล้ว  เราคุ้นเคยกันจนได้กินซูชิฝีมือคุณตาหลายครั้ง  ระหว่างนั่งรถไปด้วยกัน ก็ถามคุณตาเกี่ยวกับพิธีชงน้ำชา  คุณตาไม่ตอบ แต่กลับชวนคุยไปเรื่องอื่นซะนี่  ... เราเองก็ไม่ได้สนใจ เพราะมัวแต่ดูแผนที่


อยู่ร่วมพิธีจนบ่ายก็ขับรถกลับ  คุณตาพูดขึ้นว่า เข้าใจหรือยังว่า พิธีชงน้ำชาเป็นเรื่องที่เราต้องสัมผัสจึงจะเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องที่อธิบายได้


คุณตาบอกว่า ไม่ยากที่เราจะมองหาความงามของดอกไม้  แต่เมื่อไหร่ที่เราเห็น“ความงาม”ของผ้าขี้ริ้ว เมื่อนั้นชีวิตที่เหลือของเราจะเป็นชีวิตที่สุขสมบูรณ์ที่สุด ความงามที่ยั่งยืนคือความงามจากความเรียบง่าย … โอ๊ววว!!  บทเรียนจากปรมาจารย์ที่แม่ต้นได้ใช้มาตลอดชีวิตที่ต้องเดินทางไปพบเจอประสบการณ์มากมาย  เราพบว่า แต่ละวันของชีวิต ต่อให้ลำบากขนาดไหน ก็มองเห็นความงามในสิ่งนั้นได้


ตอนนี้ มาเป็นครูที่ต้องผจญกับนักเรียนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ยิ่งต้องมองให้เห็น "ความงาม" ในตัวพวกเขา  พลังที่จะทำงานกับเขาก็ยิ่งเพิ่มพูน