ฟังเทศน์ของท่านปอ.ปยุตโตเรื่องอิทธิบาท4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ทำให้เข้าใจทันทีว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าช่างลึกซื้ิง เพราะท่านเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยความเข้าใจนี้ ในฐานะที่มาเป็น "ครู" ก็ได้เปิดโลกทัศน์ที่นำไปสู่ความเป็นอิสระ ไร้กรอบ แต่เข้าถึงแก่นอย่างแท้จริง
ฟังเทศน์ของท่านไปก็นึกถึงนักเรียน (และทีมครู) ไปด้วยว่า จะนำไปใช้งานจริงอย่างไร
คนจำนวนไม่น้อยติดกรอบคิดว่า จะทำอะไรได้ดี อย่างนักเรียนจะเรียนหนังสือได้ดีก็ต้องเริ่มที่ "ฉันทะ" คือต้องสร้างให้เกิดความพึงพอใจ มีความรักที่จะเรียนรู้สิ่งนั้นเสียก่อน จึงจะเรียนรู้ได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์มี "จริต" ที่แตกต่างกัน
เด็กบางคนอาจจะต้องเริ่มด้วย "วิริยะ" ซึ่งแปลว่าความแกล้วกล้า พวกนี้มีความเป็นนักรบ สนุกกับการเรียนรู้สิ่งที่ท้าทาย ชอบเอาชนะอุปสรรค ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะรักหรือไม่รักในตอนแรก แต่เมื่อลงมือไปแล้ว อาจจะรู้สึกชอบก็ได้
เด็กอีกประเภทหนึ่งเป็นกลุ่ม "จิตตะ" ท่านมักจะเปรียบเด็กกลุ่มนี้ว่า เหมือนคนกู้ระเบิด คือ จำเป็นต้องทำแล้ว ไม่ทำตายแน่ๆ นึกถึงหน้าเด็กๆ ที่ครูบอกว่า พรุ่งนี้ deadline ไม่ส่งได้ 0 ... คืนนี้ ต่อให้ไม่ชอบงานนี้แค่ไหน ก็ต้องลุยทำให้เสร็จ
เด็กกลุ่มสุดท้าย คือ "วิมังสา" เป็นนักทดลอง ไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ ไม่จำเป็นต้องทำ แต่อยากลองหาประสบการณ์ อยากลองความคิดใหม่ๆ ก็ลองทำดูก่อน ลองดูแล้วรู้สึกว่า เพลินดีมีความสุขก็อาจจะชอบและทำต่อเนื่อง
แต่ท่านย้ำว่า ไม่ว่าจะเริ่มด้วยอะไร ดีที่สุดก็จะต้องมีครบองค์ 4 จึงจะทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข เข้าถึงแก่นสารอย่างแท้จริง ชไปทำประโยชน์ได้ มีความสมดุลย์กับตัวเองและกับผู้อื่น เช่นว่า ถ้าเราเป็นพวกที่ชอบงานท้าทาย (เรียกว่า งานง่ายๆ ไม่ทำ) เมื่อเริ่มไปแล้ว เกิดความรู้สึกดีๆ กับเรื่องที่เรียนอยู่ ก็จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีการทดลองของใหม่ มีการตัดสินใจเกี่ยวกับงานที่ทำ ฯลฯ
ถ้าบอกว่า พระพุทธเจ้านี่ท่านมหัศจรรย์จริงๆ ท่านเข้าใจหลัก tailor-made อย่างแท้จริง เพราะท่านเข้าใจมนุษย์อย่างถึงกึ๋นทีเดียว เห็นด้วยกับท่านมากๆ ว่า เราไม่จำเป็นต้องรักงานนั้นก่อนที่จะได้รู้จักมันอย่างแท้จริง ลองทำดูก่อน ลองรู้จักมันก่อน เดี๋ยวก็อาจจะรักมันก็ได้
No comments:
Post a Comment