9.10.2011

ปลูกผักไร้สารต้องอาศัยป่า

ดร.สัมพันธ์ เย็นวารี
เป้าหมายหนึ่งของ trip นี้คือ ฝึกเด็กๆ เรื่องการรับรู้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ เด็กๆ ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับวังน้ำเขียว วิเคราะห์ และตั้งคำถาม แต่ดูจะได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชนมากจนหลายคนก็ตัดสินไปแล้วว่า ป่าถูกบุกรุกโดยชาวบ้าน
Timeline พัฒนาการการใช้พื้นที่วังน้ำเขียว ของดร.สัมพันธ์

ดร.สัมพันธ์ เย็นวารี เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกพื้นที่ทำเกษตรวังน้ำเขียว ได้กรุณามาเล่าเรื่องราวของวังน้ำเขียวกับประเด็นการบุกรุกพื้นที่ป่าให้เด็กๆ ฟัง

ประเด็นนี้เริ่มต้นเมื่อสมัยที่รัฐพยายามผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้ออกจากบริเวณนี้เนื่องจากเป็นป่าทึบและเป็นที่ตั้งของกองกำลังพคท. ซึ่งรัฐใช้หลายมาตรการ รวมทั้งการให้สัมปทานป่าไม้ ระดมให้ชาวบ้านเข้ามาจับจองเป็นที่ทำกิน แต่ต่อมาปี 2524 ก็ยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ประกาศเขตอุทยาน

ผักไร้สารที่วังน้ำเขียวกับการใช้พื้นที่ป่า
ตัวอาจารย์มาวังน้ำเขียวเมื่อปี 2528 ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ที่นี่แล้งจนปลูกมะละกอยังไม่ได้ก็เลยพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อปลูกข้าวโพดหวานส่งออกญี่ปุ่นเป็นรายแรก ต่อมาก็เปิดหน้างานผักไร้สารเืพื่อบริโภคในประเทศ และส่งออกไปยุโรป ก่อนที่วังน้ำเขียวจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างทุกวันนี้  แต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา  ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณห้ามใช้พื้นที่ทั้งในไทยสามัคคี สวนห้อม เขาแผงม้า  แม้แต่สำนักงานราชการ เช่นสถานีอนามัย และชาวบ้านต่างก็ใช้พื้นที่ทำกิจการของตนเอง

มองหาทางออกระยะสั้นและยาว

สำหรับคนทำผักไร้สาร การบุกรุกทำลายป่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  เพราะชาวไร่ผักไร้สารทราบดีว่าจำเป็นต้องมีป่าไม้เป็นแนวกันชนเพื่อรักษาสภาพดินและน้ำที่ต้องดูแลไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง  มีการตรวจสอบสารพิษกันทุก 90 วัน  ปุ๋ยที่ใช้ก็เป็นปุ๋ยอินทรีย์  ดังนั้นชาวบ้านนั่นเองจึงต้องทำหน้าที่ดูแลให้มีการปลูกป่าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2528

ในวิกฤต มีโอกาส ...
ทางแก้ไขที่น่าสนใจมากสำหรับปัญหานี้ คือการให้ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่มาร่วมกันกำหนดพื้นที่กันใหม่โดย มาทบทวนแผนที่แต่ละฉบับทั้งแผนที่ปี 2508 และ 2524   แต่ระยะยาว จำเป็นที่ต้องให้การศึกษาเพื่อให้คนไทยให้รู้จักสิทธิชุมชน เข้าใจกฎหมาย และคิดวิเคราะห์เป็น

ดร.สัมพันธ์ และครูแก้วบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ท้อถอย เพราะกลับเป็นเหตุให้ชุมชนรวมตัวกันได้ และยังทำให้วังน้ำเขียวเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกทั้งในแง่ธรรมชาติดี ผู้คนเป็นมิตร และมีชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้  การมองเห็นโอกาสในวิกฤต ... เป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับเด็กเพลินฯ



พี่นิกสัน: Trial & Error

เคยเขียนเรื่อง Resilience:ดีที่ได้ลอง  วันนี้พาเด็กๆ มาพบกับคุณอานิกสัน ตัวอย่างของ resilience ที่อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

คุณอานิกสันผสมเกสรให้ดู
คุณอานิกสันไม่ได้สอนแต่เรื่องการผสมเกสรเพื่อการขยายพันธุ์และการสร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังสอนสิ่งที่ใครก็สอนด้วยปากไม่ได้ ต้อง"เป็น"ให้ดูคือ ความอดทนรอคอย ล้มแล้วลุกให้ได้ (Resilience) และ trial & error 

เด็กจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าจะเริ่มต้นเพราะกลัวจะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ  บางคนพอมีกำลังใจอยู่บ้าง แต่ก็ถอยเร็ว ล้มครั้งหรือสองครั้งก็เลิกเลย  แต่คนทำกล้วยไม้กว่าจะได้ผลงานออกมาแต่ละชิ้นต้องผ่านความล้มเหลวมาไม่น้อย 

คุณอานิกสันคิดกับเรื่องความล้มเหลว และการลองผิดลองถูกนี้อย่างไร  "เราต้องมีเป้าหมายก่อน" ว่า ต้องการกล้วยไม้ที่มีคุณสมบัติ ความแข็งแรง ความคงทนแบบไหน สี และกลิ่นอะไร ลักษณะดอก กลีบดอกและช่อดอกอะไร คิดต่อไปถึงว่า ถ้าได้ออกมาจะไปขายลูกค้าโซนไหน ฯลฯ  กว่าจะเริ่มผสมได้ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่อยากลองอะไรก็ลอง เราไม่ได้จะทำเพื่อความล้มเหลวนี่นา

กว่าจะได้กระโปรงสวยขนาดนี้ ...
ดังนั้นก็พิจารณาปัจจัยของ "ความน่าจะเป็น" (ภาษาคณิตก็บอกว่า probability)  ดูว่าเป็นสกุลไหนผสมกันได้ เป็นลักษณะดอกอย่างไร ชอบอากาศ ความชื้น แสงมากน้อยแค่ไหน ฤดูกาลที่จะผสมบางพันธุ์ได้ ฯลฯ  พิจารณาปัจจัยคร่าวๆ แล้วก็ลงมือผสมเกสร ด้วยการจิ้มเกสรตัวผู้ (Anther) ไปแปะไว้ใน Stigma ของดอกตัวเมีย

สวยขนาดนี้สมควรเป็นแม่พันธุ์
จากนั้นก็เป็นขั้นตอนที่ยากมากๆ สำหรับหลายคนคือ รอลุ้นว่าจะติดหรือไม่ด้วยอัตราความสำเร็จที่อาจจะต่ำกว่า 5%   ระยะเวลาในการลุ้นว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ช่างยาวนาน บางพันธุ์มีช่วงเวลาถือฝักปีกว่าๆ เลี้ยงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงไปอีกปีหนึ่ง รวมๆ แล้วประมาณ 3 ปีจึงจะออกดอกมาใ้ห้ดูว่า ที่ผสมกันไปแล้วได้ดอกที่มีหน้าตากลิ่นและสีอย่างที่ต้องการหรือไม่  บางครั้งก็ไม่สำเร็จเลย!!! จ๊ากส์!?!?!


"จะเลิกหรือจะลองต่อ" เป็นคำถามกวนใจคนผสมกล้วยไม้เสมอ  แต่คนที่ก้าวมาถึงขั้นจองรางวัลตามเวทีประกวดได้ก็ตอบว่า "ถ้าเลิกแล้วจะได้ดอกไม้สวยๆ อย่างนี้หรือครับ การลงทุนแบบนี้ไม่ได้เป็นศูนย์นะครับ เพราะเราได้บทเรียนจากความล้มเหลว ถือเป็นประสบการณ์ของเรา แล้วผลงานที่ได้ก็พอขายได้บ้าง เพราะไม่ใช่ไม่สวยนะ"  คุ้มค่าไหมกับพลังใจและเวลา เมื่อผลงานระดับส่งประกวด ได้รางวัล หรือเพียงราคาขายที่ต้นละไม่กี่แสนบาท  ตอบกันเองก็แล้วกัน หุหุ



9.06.2011

ลุงไกร: "ความเรียบง่าย ดีที่สุด"



ลุงไกรพูดอะไรโดนๆ เยอะ ... อะไรทำให้ลุงไกรเป็นลุงไกรในวันนี้ 

ลุงไกร ผู้เข้าถึงหัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง
"ลุงไกรว่า  ความเรียบง่าย  เราเรียบง่ายแต่เราต้องคิด เราต้องเรียนรู้ตลอด  จากที่ไม่เคยรู้กฎหมาย วันนี้ต้องเรียนรู้  ต้นทุนทางสังคมเราต้องมี  แต่มันมาจากการสะสม จากการให้ จากการแบ่งปัน ด้วยใจที่สะอาดนะ  จิตสำนึกที่จะให้เนี่ย ลุงไม่มีเงิน ลุงก็ให้ความรู้  ปรัชญาชีวิตของลุงไกร ไม่มีอะไรมาก แค่คิดบวก ทุกย่างก้าวมองอะไรให้เห็นเป็นเรื่องบวก เป็นโอกาสของเรา  เราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น คือการเอาธรรมะมาลงบนผืนแผ่นดินนี้หละ  อยู่กันอย่างเกื้อกูล"

ความเกื้อกูลที่ว่านี้  ลุงไกรยกตัวอย่างว่า คนปลูกผักก็ต้องนึกถึงผู้บริโภค  แต่ต้องนึกแบบมีสติ  ผู้บริโภคต้องการผักสวยๆ เราอัดยาฆ่าแมลงลงไปก็ถือว่าไม่เกื้อกูล  แต่ผักอินทรีย์มีใบเน่าบ้าง มีหนอนติดบ้าง เราก็ต้องเกื้อกูลด้วยการให้ความรู้กับเขา  ไม่ใช่ไปตามใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ลุงไกรยืนยันว่า ถ้าเราใช้ชีวิตแบบเรียนรู้ รอบรู้ รอบคอบ และมีคุณธรรม  เราไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอกว่าเราเป็นคนดีหรอก  แต่สิ่งนี้จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดี  พ่อแม่บางคนเป็นพวกพ่อแม่รังแกฉัน บังคับให้ลูกเป็นนั่นเป็นนี่ นี่ก็แย่  แต่เราเป็นลูก ก็ต้องเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ทำแบบนี้ อย่าไปโกรธ อย่าไปว่าท่าน  อย่าลืมว่ามนุษย์ไม่สามารถสุขอยู่เพียงคนเดียวได้  ลุงไกรเป็นคนคิดบวก ก็เลยเบาสบาย แต่เรื่องแบบนี้ ต้องฝึกเหมือนกับดนตรี เพราะเป็นทักษะการคิด

เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นความคิดรวบยอดของแนวคิดพระเจ้าอยู่หัวที่ลึกซึ้งมาก ท่านบอกไว้เป็นภาพรวมๆ ถ้าเราใคร่ครวญให้ดี เราจะเห็นองค์ประกอบที่สำคัญคือ
  • ภูมิคุ้มกันที่ดี จากการเรียนรู้ รอบรู้ รอบคอบ และคุณธรรมที่ทำให้สรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้
  • การจัดเรียงความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจกับสังคม ให้มีรายได้ทุกคน ไม่ต้องทะเลาะกัน
  • จัดปรับเสมอ ตามบริบท เราต้องฟังคนอื่นด้วย บวกกับเรื่องการวางแผนที่ดี และการบริหารจัดการ
  • และต้องทำให้ยั่งยืน ด้วยความสัมพันธ์เชิงบวกกับสังคม จึงต้องเอื้อเฟื้อกัน ทำให้สังคมปลอดภัย กลายเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญมากๆ
ลุงไกรยืนยันว่า เงินไม่ใช่คำตอบ  และเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่า ต้องจน  แต่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เราต้องเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเอง ได้ลองนำไปใช้ แล้วมาประมวล  เราก็จะเข้าใจชีวิตมากขึ้น  บอกได้แค่ว่า แนวทางของในหลวง ถ้าไม่อยากเข้าใจก็จะไม่เข้าใจ แต่มันสุดยอดจริงๆ  ถ้าไปถึงตรงนั้นได้ เราจะเอาตัวรอดได้ในสภาพที่โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อม โรคภัย และภัยพิบัติมากมาย

เป็น lecture เคล้าเสียงเพลงที่สุดยอดจริงๆ ... ขอให้ประชาชนที่คิดเป็นทำเป็นจงมีพลัง  บันทึกไว้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2554