9.10.2011

พี่นิกสัน: Trial & Error

เคยเขียนเรื่อง Resilience:ดีที่ได้ลอง  วันนี้พาเด็กๆ มาพบกับคุณอานิกสัน ตัวอย่างของ resilience ที่อยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

คุณอานิกสันผสมเกสรให้ดู
คุณอานิกสันไม่ได้สอนแต่เรื่องการผสมเกสรเพื่อการขยายพันธุ์และการสร้างพันธุ์พืชใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังสอนสิ่งที่ใครก็สอนด้วยปากไม่ได้ ต้อง"เป็น"ให้ดูคือ ความอดทนรอคอย ล้มแล้วลุกให้ได้ (Resilience) และ trial & error 

เด็กจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าจะเริ่มต้นเพราะกลัวจะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ  บางคนพอมีกำลังใจอยู่บ้าง แต่ก็ถอยเร็ว ล้มครั้งหรือสองครั้งก็เลิกเลย  แต่คนทำกล้วยไม้กว่าจะได้ผลงานออกมาแต่ละชิ้นต้องผ่านความล้มเหลวมาไม่น้อย 

คุณอานิกสันคิดกับเรื่องความล้มเหลว และการลองผิดลองถูกนี้อย่างไร  "เราต้องมีเป้าหมายก่อน" ว่า ต้องการกล้วยไม้ที่มีคุณสมบัติ ความแข็งแรง ความคงทนแบบไหน สี และกลิ่นอะไร ลักษณะดอก กลีบดอกและช่อดอกอะไร คิดต่อไปถึงว่า ถ้าได้ออกมาจะไปขายลูกค้าโซนไหน ฯลฯ  กว่าจะเริ่มผสมได้ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่อยากลองอะไรก็ลอง เราไม่ได้จะทำเพื่อความล้มเหลวนี่นา

กว่าจะได้กระโปรงสวยขนาดนี้ ...
ดังนั้นก็พิจารณาปัจจัยของ "ความน่าจะเป็น" (ภาษาคณิตก็บอกว่า probability)  ดูว่าเป็นสกุลไหนผสมกันได้ เป็นลักษณะดอกอย่างไร ชอบอากาศ ความชื้น แสงมากน้อยแค่ไหน ฤดูกาลที่จะผสมบางพันธุ์ได้ ฯลฯ  พิจารณาปัจจัยคร่าวๆ แล้วก็ลงมือผสมเกสร ด้วยการจิ้มเกสรตัวผู้ (Anther) ไปแปะไว้ใน Stigma ของดอกตัวเมีย

สวยขนาดนี้สมควรเป็นแม่พันธุ์
จากนั้นก็เป็นขั้นตอนที่ยากมากๆ สำหรับหลายคนคือ รอลุ้นว่าจะติดหรือไม่ด้วยอัตราความสำเร็จที่อาจจะต่ำกว่า 5%   ระยะเวลาในการลุ้นว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ช่างยาวนาน บางพันธุ์มีช่วงเวลาถือฝักปีกว่าๆ เลี้ยงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงไปอีกปีหนึ่ง รวมๆ แล้วประมาณ 3 ปีจึงจะออกดอกมาใ้ห้ดูว่า ที่ผสมกันไปแล้วได้ดอกที่มีหน้าตากลิ่นและสีอย่างที่ต้องการหรือไม่  บางครั้งก็ไม่สำเร็จเลย!!! จ๊ากส์!?!?!


"จะเลิกหรือจะลองต่อ" เป็นคำถามกวนใจคนผสมกล้วยไม้เสมอ  แต่คนที่ก้าวมาถึงขั้นจองรางวัลตามเวทีประกวดได้ก็ตอบว่า "ถ้าเลิกแล้วจะได้ดอกไม้สวยๆ อย่างนี้หรือครับ การลงทุนแบบนี้ไม่ได้เป็นศูนย์นะครับ เพราะเราได้บทเรียนจากความล้มเหลว ถือเป็นประสบการณ์ของเรา แล้วผลงานที่ได้ก็พอขายได้บ้าง เพราะไม่ใช่ไม่สวยนะ"  คุ้มค่าไหมกับพลังใจและเวลา เมื่อผลงานระดับส่งประกวด ได้รางวัล หรือเพียงราคาขายที่ต้นละไม่กี่แสนบาท  ตอบกันเองก็แล้วกัน หุหุ



No comments: