9.10.2011

ปลูกผักไร้สารต้องอาศัยป่า

ดร.สัมพันธ์ เย็นวารี
เป้าหมายหนึ่งของ trip นี้คือ ฝึกเด็กๆ เรื่องการรับรู้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ เด็กๆ ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับวังน้ำเขียว วิเคราะห์ และตั้งคำถาม แต่ดูจะได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชนมากจนหลายคนก็ตัดสินไปแล้วว่า ป่าถูกบุกรุกโดยชาวบ้าน
Timeline พัฒนาการการใช้พื้นที่วังน้ำเขียว ของดร.สัมพันธ์

ดร.สัมพันธ์ เย็นวารี เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกพื้นที่ทำเกษตรวังน้ำเขียว ได้กรุณามาเล่าเรื่องราวของวังน้ำเขียวกับประเด็นการบุกรุกพื้นที่ป่าให้เด็กๆ ฟัง

ประเด็นนี้เริ่มต้นเมื่อสมัยที่รัฐพยายามผลักดันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้ออกจากบริเวณนี้เนื่องจากเป็นป่าทึบและเป็นที่ตั้งของกองกำลังพคท. ซึ่งรัฐใช้หลายมาตรการ รวมทั้งการให้สัมปทานป่าไม้ ระดมให้ชาวบ้านเข้ามาจับจองเป็นที่ทำกิน แต่ต่อมาปี 2524 ก็ยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ประกาศเขตอุทยาน

ผักไร้สารที่วังน้ำเขียวกับการใช้พื้นที่ป่า
ตัวอาจารย์มาวังน้ำเขียวเมื่อปี 2528 ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ที่นี่แล้งจนปลูกมะละกอยังไม่ได้ก็เลยพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อปลูกข้าวโพดหวานส่งออกญี่ปุ่นเป็นรายแรก ต่อมาก็เปิดหน้างานผักไร้สารเืพื่อบริโภคในประเทศ และส่งออกไปยุโรป ก่อนที่วังน้ำเขียวจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างทุกวันนี้  แต่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา  ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณห้ามใช้พื้นที่ทั้งในไทยสามัคคี สวนห้อม เขาแผงม้า  แม้แต่สำนักงานราชการ เช่นสถานีอนามัย และชาวบ้านต่างก็ใช้พื้นที่ทำกิจการของตนเอง

มองหาทางออกระยะสั้นและยาว

สำหรับคนทำผักไร้สาร การบุกรุกทำลายป่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้  เพราะชาวไร่ผักไร้สารทราบดีว่าจำเป็นต้องมีป่าไม้เป็นแนวกันชนเพื่อรักษาสภาพดินและน้ำที่ต้องดูแลไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง  มีการตรวจสอบสารพิษกันทุก 90 วัน  ปุ๋ยที่ใช้ก็เป็นปุ๋ยอินทรีย์  ดังนั้นชาวบ้านนั่นเองจึงต้องทำหน้าที่ดูแลให้มีการปลูกป่าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2528

ในวิกฤต มีโอกาส ...
ทางแก้ไขที่น่าสนใจมากสำหรับปัญหานี้ คือการให้ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่มาร่วมกันกำหนดพื้นที่กันใหม่โดย มาทบทวนแผนที่แต่ละฉบับทั้งแผนที่ปี 2508 และ 2524   แต่ระยะยาว จำเป็นที่ต้องให้การศึกษาเพื่อให้คนไทยให้รู้จักสิทธิชุมชน เข้าใจกฎหมาย และคิดวิเคราะห์เป็น

ดร.สัมพันธ์ และครูแก้วบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ท้อถอย เพราะกลับเป็นเหตุให้ชุมชนรวมตัวกันได้ และยังทำให้วังน้ำเขียวเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกทั้งในแง่ธรรมชาติดี ผู้คนเป็นมิตร และมีชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้  การมองเห็นโอกาสในวิกฤต ... เป็นอีกบทเรียนหนึ่งสำหรับเด็กเพลินฯ



No comments: